ตามวัดต่างๆนั้น มักปรากฏว่าตามผนัง หรือที่ต่างๆในวัดรวมทั้งข้าวของเครื่องใช้จำนวนมากมายมักจะมีการประดับตบแต่งด้วยภาพลวดลายอันสวยงามและเป็นมงคล ที่สำคัญเป็นการบันทึกศิลปะจากช่างฝีมือในยุคสมัยต่างๆ ซึ่งลำปางก็เช่นกันมีลวดลายอันสวยงามขึ้นชื่ออยู่หลายอย่าง อาทิ ลายไส้หมูและลายเครือเถาหรือปูรณฆฏะ ซึ่งอย่างหลังนั้นขึ้นชื่อในหมู่ผู้นิยมประวัติศาสตร์ศิลปะว่า จัดเป็นลวดลายที่สวยงามและสมบูรณ์แบบที่สุดที่หนึ่งของประเทศไทย ถึงขนาดที่ว่านักออกแบบชาวตะวันตก ผู้ออกแบบสถานีรถไฟนครลำปางได้หยิบเอาไปใช้ตกแต่งส่วนที่เป็นราวกันตกของระเบียงชั้นบนของอาคารสถานี
แต่ผู้ที่ต้องการที่จะเห็นลวดลายปูรณฆฎะอันสวยงามอันเป็นต้นฉบับนั้น ย่อมจะไม่พลาดที่จะเดินทางไปยังวัดปงยางคก (บางข้อมูลบอกว่าชื่อเดิมคือ วัดปงช้างนบ (ปงจ๊างนบ) จากการที่เมื่อราว พ.ศ.1243 ครั้งเมื่อพระนางจามเทวี ผู้ครองนครหริภุญชัย มาเยี่ยมเจ้าอนันตยศ ราชบุตร ผู้มาครองนครเขลางค์ลำปาง ระหว่างเดินทางนำฉัตรทองไปบูชาที่พระธาตุลำปางหลวง ช้างพระที่นั่งย่อตัวหมอบชูงวงคารวะ พระนางเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงพักพล ณ ที่นั้น ตกกลางคืน พระนางอธิษฐานว่า ที่นี่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ปรากฎขึ้น จากนั้นมีแสงพุ่งออกมาจากจอมปลวก จึงทรงให้ปลูกวิหาร ณ ที่แห่งนั้น ให้นามว่า “วัดปงจ๊างนบ” ต่อมาคำเรียกเพี้ยนเป็นวัดปงยางคก ที่มา:https://www.voicetv.co.th/read/497449 ) ซึ่งเมื่อไปถึงก็จะพบกับวิหารไม้ทรงล้านนาโบราณอันสวยงาม (วิหารจามเทวี) ซึ่งเมื่อเข้าไปด้านใน จะพบกับมณฑปหรือ”โขงพระเจ้า” อันโดดเด่นอายุพันกว่าปีที่หาชมได้ยาก รวมทั้งลวดลายปูรณฆฏะอันทรงคุณค่าและงดงามนี้
ลวดลายนี้เป็นการรับเอาแนวคิดมาจากอินเดียที่ใช้ลายเครือเถาไม้เลื้อยในหม้อดอกเพื่ออุปมาถึงความเจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์และร่มเย็น เป็นลายที่นิยมใช้ในหลายวัดทางภาคเหนือรวมทั้งลำปาง
Leave A Comment