“แรงดึงดูดของความไม่มีอะไรเป็นพิเศษ” (The appeal of nothing special)
Alex Kerr เป็นหนึ่งในชาวต่างชาติหลายๆคนที่มีโอกาสได้มาเยือนและค้นพบว่าตนเองหลงรักในประเทศญี่ปุ่นจนอยากมีบ้านอยู่ที่นั่น แต่ที่แตกต่างคือ การค้นพบจิตวิญญาณบางอย่างที่ทรงคุณค่าของความเป็นญี่ปุ่นซึ่งกำลังหายไปกับความก้าวหน้าของโลกปัจจุบัน และเค้าประสบความสำเร็จในการนำมันกลับมาให้อยู่กับโลกปัจจุบันได้โดยไม่ทิ้งตัวตนของตัวเองไปเหมือนหลายเมืองบนโลกใบนี้
ญี่ปุ่นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็คล้ายๆกับประเทศต่างๆที่มุ่งหน้าไปหาสิ่งที่คิดเอาว่านั่นคือ “ความศิวิไลซ์” กับการที่มีตึกสูงๆและการทะลักรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาแบบไม่ลืมหูลืมตาโดยอาจลืมบริบทของตนเองไป ซึ่งจริงๆแล้ว การรับเอาเทคโนโลยีหรือความสะดวกสบายของโลกปัจจุบันนั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด แต่จะดีกว่าหรือไม่หากเรายังสามารถคงไว้ซึ่ง “จิตวิญญาณ” ที่มีคุณค่าของตนเองไปพร้อมๆกัน (ปารีสเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในเรื่องนี้)
ในวิดีโอ เราได้เห็นตัวอย่างที่ดีของการผสมผสานเอาทั้งสองอย่างเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกล่อมและเป็นไปในทิศทางที่สนับสนุนและ “เกื้อกูล” กันมากกว่าจะมาหักล้างกันแนวๆว่า *ถ้าสิ่งนี้อยู่อีกสิ่งหนึ่งต้องถูกทำลาย!* ซึ่งอเล็กซ์พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแนวทางของเค้าเป็นสิ่งที่ทำได้จริง
เค้าเริ่มต้นกับการที่ได้มีโอกาสไปซื้อบ้านเก่าในเขตร้างผู้คนซึ่งมีราคาถูกมากเป็นพิเศษเพราะผุพังและคนอื่นๆคิดว่าทุบทำลายทิ้งเป็นสิ่งที่”ถูก” และเป็นไปได้มากกว่า แต่อเล็กซ์กลับไม่คิดเช่นนั้น เค้าเห็นคุณค่าของบ้านหลังนั้นและสามารถบูรณะบ้านขึ้นมาใหม่จนสวยงาม (แถมยังตั้งชื่อให้อีกด้วย) และได้ทำเป็นโฮมสเตย์ที่แรกเริ่มก็มีคนมาพักเป็นชาวตะวันตก ซึ่งได้รับความนิยมมากแม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ที่ถือว่าไกลและทุรกันดารสำหรับประเทศแบบญี่ปุ่น
จนกระทั่ง วันหนึ่งภาครัฐเริ่มสนใจเพราะว่ามีคนเดินทางมาเที่ยวที่นี่มากมาย ทั้งที่ไม่มีสิ่งดึงดูดแบบที่โลกสมัยใหม่นิยามไว้อย่าง หอคอย สวนสนุก แหล่งช็อปปิ้ง ฯลฯ (ไม่ได้บอกว่ามีสิ่งเหล่านี้ผิดนะครับหากเรามีควบคู่กันไปอย่างสมดุล) ซึ่งอเล็กซ์ก็บอกว่านี่เป็นเพราะที่หมู่บ้านนี้มีสิ่งที่เค้าเรียกว่า “แรงดึงดูดของความไม่มีอะไรเป็นพิเศษ” ซึ่งก็คือการที่ผู้คนต้องการมาสัมผัสกับสิ่งที่สถานที่นี้มีให้อย่างจริงใจไม่ต้องแต่งเติมแบบที่เห็นกันดาษดื่นตามที่ต่างๆ
หลักคิดที่น่าสนใจและผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เค้าทำสิ่งนี้ได้สำเร็จ น่าจะเป็นการที่อเล็กซ์ เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก ที่ผู้คนต้องการความทันสมัยในบางสิ่งเพื่อร่างกายของตน ขณะเดียวกันก็ต้องหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณด้วยอีกบางสิ่งที่นับวันจะหายากขึ้นทุกที และ “ไม่มีอะไรผิด เพียงแต่เราต้องหาวิธีที่สมดุลให้ทั้งสองอย่างนี้อยู่ด้วยกันได้” ดังที่เค้ากล่าวว่า “สิ่งที่ผมอยากทำก็คือ การนำบ้าน (โบราณ) เหล่านี้กลับมาสู่โลกยุคทันสมัยให้ได้ เพราะนั่นคือหนทางเดียวที่บ้านเหล่านี้จะอยู่รอดได้” (what I want to do is to bring these houses into the modern age because that’ s the only way that they can live.)
ทุกวันนี้ บ้านของเค้าถูกจองพักเกือบเต็มตลอด สร้างรายได้ที่มั่นคงและที่สำคัญ นำมาซึ่งผลพลอยได้ต่อธุรกิจและชีวิตคนในชุมชนที่มีทิศทางดีขึ้นจากเดิมที่เกือบเป็นเมืองร้าง เนื่องจาก “เมื่อมีคนมาเที่ยว คนเหล่านั้นก็ต้องการทานอาหารท้องถิ่น ต้องการซื้อของฝาก และคนรุ่นใหม่ก็เริ่มย้ายเข้ามาอยู่อีกครั้ง” (ทุกวันนี้ จำนวนคนที่มาพักไม่ได้มีแต่ต่างชาติ แถมบางหลังยังมีชาวญี่ปุ่นมาพักเป็นส่วนใหญ่เสียด้วยซ้ำ)
กลับมาที่ลำปาง ในช่วงนับสิบปีที่ผมย้ายกลับมาอยู่ที่ลำปางบ้านเฮาอย่างถาวร เริ่มแรกก็ไม่รู้ว่าลำปางมีคุณค่าอย่างไร รู้แต่ว่าเราชอบตรงความเป็นลำปางที่เราคุ้นเคยและมีความสุขที่ได้กลับมาทุกครั้งตั้งแต่เกิด จนกระทั่งบ่อยครั้งที่เพื่อนฝูงมาเยือนและพักค้างคืน ก็จะพูดคล้ายๆกันว่า ไม่เคยคิดเลยว่าลำปางจะน่ามาเที่ยวแบบนี้ก็เลยมักจะเดินทางต่อไปเชียงใหม่เลย แต่พอได้สัมผัสนานขึ้นก็รู้สึกว่าลำปางมีเสน่ห์และน่ากลับมาเยือน ดังนั้น พอมาช่วงหลังๆ เราเองก็เลยเริ่มแสวงหารายละเอียดความเป็นเมืองน่าอยู่ของลำปางและก็ค้นพบว่าไม่แปลกเลยที่คนทั่วไปจะชอบเพราะเมืองเราไม่เหมือนใครจริงๆ
ถึงตรงนี้ ลำปางเรา น่าจะสามารถนำหลักคิดของอเล็กซ์มาปรับใช้ได้บ้างนะครับ เพราะเพียงเราตระหนักรู้ว่าเรามีอะไรที่ดีและมีคุณค่าไม่เหมือนใคร รวมทั้งยึดแนวทางที่ถูกต้องในการรักษาสิ่งเหล่านั้นไว้ บางทีวันนึง เราอาจจะกลายเป็นเมืองที่ผู้คนอยากมาเยือนและแสวงหาความหมายของคำว่า “แรงดึงดูดของความไม่มีอะไรเป็นพิเศษ” (ซึ่งจริงๆแล้วพิเศษอย่างลึกซึ้ง) ก็ย่อมได้
Leave A Comment